คำว่า "เกรงใจ" นี้เราคนไทยใช้มันอยู่บ่อยๆ โดยที่อาจจะไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำว่ามันมีหลายความหมายที่ต่างกันเล็กน้อย และถูกใช้ในหลายๆสถานการณ์ ความจริงแล้วในภาษาอังกฤษไม่มีคำใดคำหนึ่งที่สามารถใช้แทน "เกรงใจ" ได้ทุกๆสถานการณ์ ผมเลยได้แยกสถานการณ์ออกเป็นหัวข้อๆเพื่อให้ง่ายขึ้นในการเข้าใจ
1. โปรดเกรงใจกันบ้าง (นึกถึงคนอื่นบ้าง)
ในสถานการณ์นี้คือผู้พูดต้องการให้ผู้ฟัง "นึกถึงคนอื่น" บ้าง
คำที่แปลว่า "นึกถึงคนอื่น" ในภาษาอังกฤษก็คือ Consideration(Noun) หรือ Considerate(Adjective)
ปกติแล้วเวลาจะพูดว่า "ให้เกรงใจกันบ้าง" เราจะใช้แพทเทิร์นของ 2 ประโยคด้านล่างนี้
Please show your consideration to/for/of...
ให้แสดงความเห็นใจกับ...บ้าง
Please be considerate to/for/of...
โปรดนึกถึง...บ้าง(เนื่องจาก considerate เป็น adjective จึงต้องมี be นำหน้า)
ตัวอย่างประโยค
Please be considerate of those here and close this door quietly.
โปรดเกรงใจคนที่อยู่ข้างในนี้ และให้ปิดประตูเบาๆ (StackExchange)
Please show some consideration for other people who don't want to see these spoilers.
โปรดเกรงใจคนที่ไม่อยากโดนสปอยล์หนังบ้าง (Tumblr)
Be considerate when lightning bonfires or having a barbecue, not everyone wants their washing to smell of smoke and charred sausages! (Youdictionary)
ให้นึกถึงผู้อื่นบ้างเวลาจะก่อไฟหรือจะปิ้งบาร์บีคิว ไม่ใช่ทุกคนหรอกนะที่อยากจะให้เสื้อผ้าตัวเองมีกลิ่นควันและกลิ่นไส้กรอกไหม้ติดอยู่!
2. ขี้เกรงใจ
เมื่อต้องการอธิบายลักษณะของคนนั้นคนนี้ว่าเป็นคนที่ขี้เกรงใจ
เราก็ยังสามารถใช้ considerate ได้
นอกจากนี้ยังมีอีกคำนึงก็คือ thoughtful ซึ่งแปลว่า "คิดรอบด้าน"
ตัวอย่างประโยค
Japanese are very considerate people.
คนญี่ปุ่นเป็นคนขี้เกรงใจ
She is very thoughtful.
เธอเป็นคนที่นึกถึงผู้อื่นก่อนเสมอ
3. ไม่ต้องเกรงใจ (ตามสบายเลย...)
เมื่อผู้พูดอยากให้ผู้ฟังทำตัวตามสบาย
เราจะใช้สามประโยคด้านล่างนี้ สามประโยคด้านล่างนี้มีความหมายในทำนองเดียวกัน
Don't hesitate to... ไม่ต้องกังวลที่จะ...
Don't be afraid to... ไม่ต้องกลัวที่จะ...
Feel free to... ไม่ต้องเกรงใจที่จะ...
(Feel แปลว่า รู้สึก / Free แปลว่า อิสระ / Feel free จึงแปลว่า ให้คุณรู้สึกอิสระที่จะ...)
ตัวอย่างประโยค
If there is anything you need, don't hesitate to ask.
ถ้าหากคุณต้องการอะไร ไม่ต้องเกรงใจ ขอได้เลย
If you would like to come, please don't hesitate to let me know.
ถ้าคุณอยากจะมา ไม่ต้องเกรงใจนะ บอกฉันได้เลย
(Let me know มีความหมายเดียวกับ tell me / Let แปลว่า ปล่อยให้, ทำให้ / Let me know จึงแปลว่า "ทำให้ฉันรู้")
หรือ ถ้ามีแขกหรือเพื่อนมาที่บ้าน และเราอยากจะให้เค้าทำตัวตามสบาย ให้ใช้ประโยคนี้ครับ
"Make yourself at home." แปลว่า "ทำตัวให้เหมือนอยู่ในบ้านคุณ"
4. เกรงใจจัง ไม่อยากจะรบกวน/เอาเปรียบ
เกรงใจ ในความหมาย "ไม่อยากจะรบกวน" (โดยส่วนมากคนไทยเราจะใช้พูดเพื่อปฏิเสธความช่วยเหลือ) เราสามารถใช้ 3 ประโยคด้านล่างนี้ได้
I don't want to inconvenience you.
ฉันไม่อยากทำให้คุณไม่สะดวก
(Inconvenience เป็นได้ทั้ง คำนาม และ คำกริยา ถ้าเป็นคำนามจะแปลว่า "ความไม่สะดวก" / ถ้าเป็นคำกริยาจะแปลว่า "ทำให้ไม่สะดวก")
I don't want to bother you.
ฉันไม่อยากจะรบกวนคุณ
I don't want to trouble you.
ฉันไม่อยากทำให้คุณมีปัญหา
ตัวอย่างประโยค
A: I can give you a hand, if you want.
B: No, thanks! I don't want to trouble you.
A: ให้ผมช่วยมั้ยครับ
B: ไม่เป็นไรค่ะ เราเกรงใจ
A: Do you need a ride?
B: No, thanks! I don't want to inconvenience you.
A: ให้ไปส่งมั้ย
B: ไม่เป็นไรครับ ผมเกรงใจ
นอกจากวิธีปฏิเสธแบบไทยๆ "ไม่เป็นไร เกรงใจ" แล้ว ผมอยากจะแนะนำวิธีปฏิเสธที่เจ้าของภาษาเค้าพูดกันบ้าง ซึ่งพอมาแปลเป็นไทยอาจจะฟังดูแปลกๆซะหน่อย(เพราะคนไทยเราไม่พูดกัน)
I appreciate the offer, but...
ฉันซาบซึ้งที่คุณเสนอช่วยมานะ แต่ว่า...
It's nice of you to offer, but...
มันดีนะ ที่คุณได้เสนอความช่วยเหลือมา แต่ว่า...
...but I think I'll be find/okay on my own. Thanks though.
แต่ฉันคิดว่าฉันโอเคนะ ยังไงก็ขอบคุณ
...but I think I can manage it. Thanks though.
แต่ฉันคิดว่าฉันจัดการเองได้ ยังไงก็ขอบคุณนะ
Source:
EllStackexchange
Ontheroadtoasean
Image courtesy of stockimages / FreeDigitalPhotos.net
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น