หลายๆคนคงเป็นใช่มั้ยครับ ที่รู้สึกว่าแกรมม่าตัวเองก็แน่น
ศัพท์ตัวเองก็ได้ เวลาสอบภาษาอังกฤษในชั้นเรียนก็ทำได้
แต่พอจะเอามาใช้พูดจริงๆทำไมมันพูดไม่เป็นเลย คำถามนี้ตอบได้ง่ายๆเลยคือ
ก็ในชั้นเรียนเราฝึกแค่อ่านกับเขียน เราไม่ได้ฝึกพูดกับฟังซักหน่อย
พอไม่ได้ฝึกก็เป็นเรื่องธรรมดาครับที่จะไม่ได้ แล้วทีนี้จะฝึกพูดยังไงให้คล่อง
ในเมื่อเราก็อยู่ในไทย ไม่มีใครให้พูดภาษาอังกฤษด้วย ผมมีเทคนิคในการฝึกพูดของผมเองมาแชร์ให้อ่านกันครับ
คิดเป็นภาษาอังกฤษ
หลายคนพอได้อ่านก็คงคิดว่าตัวเองทำไม่ได้ใช่มั้ยครับ
เพราะว่าแค่พูดหรือกระทั่งอ่านภาษาอังกฤษยังยากเลย จะไปเอาอะไรกับการคิด
แต่ผมอยากจะบอกว่าการคิดเป็นภาษาอังกฤษไม่ได้ยากอย่างที่คิดครับ
ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนว่าการคิดเป็นภาษาอังกฤษมีประโยชน์ยังไง
อย่างแรกเลยคือถ้าเราคิดเป็นภาษาอังกฤษได้เราจะไม่ต้องมาแปลจากภาษาไทยเป็น
ภาษาอังกฤษแล้วครับ
ประโยชน์ข้อนี้ดีมากๆ เพราะว่าหลายครั้งการแปลจากไทยเป็นอังกฤษทำให้ภาษาอังกฤษที่ได้มาไม่สละสลวยครับ
และบางทีอาจจะฟังไม่รู้เรื่องด้วยสำหรับชาวต่างชาติเพราะว่าเค้าไม่พูดกันแบบนั้น(แบบที่เราพูดกันในภาษาไทย)
อย่างที่สองเมื่อเราคิดเป็นภาษาอังกฤษได้แล้ว
เราจะทำอะไรๆมันก็คล่องและเร็ว
ไม่ใช่เฉพาะการพูดอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการเขียน การอ่าน และการฟังด้วยเนื่องจากไม่มีภาษาไทยมาคั่นตรงกลาง
การฝึกคิดเป็นภาษาอังกฤษก็เหมือนกับการฝึกอื่นๆ คือเราไม่ต้องพยายามคิดเป็นภาษาอังกฤษทั้งวันทุกวันนะครับ นั่นก็อาจจะเหนื่อยเกินไป แค่เราเจียดเวลาซักครึ่งชม.หรือมากกว่านั้นมาคิดเป็นภาษาอังกฤษก็พอ และควรจะทำอย่างสม่ำเสมอ ไม่ต้องทำทุกวันก็ได้ แต่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ แล้วจะเห็นผลครับ (อาจจะฝันเป็นภาษาอังกฤษเลยก็ได้)
การฝึกคิดเป็นภาษาอังกฤษก็เหมือนกับการฝึกอื่นๆ คือเราไม่ต้องพยายามคิดเป็นภาษาอังกฤษทั้งวันทุกวันนะครับ นั่นก็อาจจะเหนื่อยเกินไป แค่เราเจียดเวลาซักครึ่งชม.หรือมากกว่านั้นมาคิดเป็นภาษาอังกฤษก็พอ และควรจะทำอย่างสม่ำเสมอ ไม่ต้องทำทุกวันก็ได้ แต่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ แล้วจะเห็นผลครับ (อาจจะฝันเป็นภาษาอังกฤษเลยก็ได้)
ที่นี้เราจะคิดเป็นภาษาอังกฤษได้ยังไงเพราะว่าการคิด(เป็นภาษาใดภาษา
หนึ่ง)ในหัวก็เป็นจุดเริ่มต้นแรกในการที่เราจะสื่อสารอะไรออกมา
คำตอบคือถูกครึ่งไม่ถูกครึ่งครับ
บางครั้งการคิด(เป็นภาษาใดภาษาหนึ่ง)ก็เป็นสิ่งแรกที่เรานึกถึงเวลาจะพูดอะไรออกมา
แต่บางครั้งก็ไม่ใช่ครับ
เราเคยจะพูดอะไรซักอย่างในภาษาไทยแต่ว่าพูดไม่ออกมั้ยครับ
มันติดอยู่ในหัวไม่รู้จะเลือกคำไหนดี
หรือว่าไม่รู้ว่าจะเรียบเรียงประโยคยังไงดี
นั่นแหล่ะครับแสดงว่าก่อนหน้าที่มันจะมีคำพูดในหัวเรามันมีความคิดอย่างอื่นก่อนครับ
แล้วเราค่อยมาแปลงเป็นภาษาไทยอีกที
ผมจะขอเรียกสิ่งนั้นที่อยู่ก่อนหน้าการคิดแบบเป็นภาษาว่า"การคิดเป็นรูป"นะครับ
ความจริงมันไม่ใช่การคิดเป็นรูปเสมอไป เพราะว่าสิ่งที่เป็นนามธรรมเช่น
"ทำไม" "อย่างไร" "ความรัก" "ความเป็นส่วนตัว"
ก็ไม่ได้เป็นรูป แต่เพื่อให้เข้าใจกันง่ายๆก็จะเรียกว่าการคิดเป็นรูปครับ
ดังนั้น ก่อนที่เราจะดำเนินการเปลี่ยนจากการคิดเป็นรูปของเรามาเป็นการคิดเป็นภาษาไทย
ให้เราหยุดแค่การคิดเป็นรูปก่อนครับ บางครั้งการดำเนินการนี้มันเร็วมากจนเราตาม(จิตใจ)เราไม่ทัน
แต่ให้เราพยายามที่จะคิดเป็นรูปก่อนครับ
จากนั้นแทนที่จะเปลี่ยนจากรูปเหล่านั้นให้กลายเป็นภาษาไทย
ให้เราเปลี่ยนมันให้เป็นภาษาอังกฤษครับ
เพียงเท่านี้เราก็สามารถที่จะคิดเป็นภาษาอังกฤษได้แล้ว
สำหรับคนที่มีคลังศัพท์เยอะ และแกรมม่าแน่น
ผมมั่นใจว่าจะไม่ประสบปัญหาซักเท่าไหร่กับการคิดเป็นภาษาอังกฤษ แต่สำหรับคนที่ศัพท์ยังน้อยอยู่
และแกรมม่ายังไม่แข็ง เมื่อเราคิดเป็นรูปแล้ว
แต่สุดท้ายเราก็ไม่รู้จะแปลงเป็นภาษาอังกฤษยังไงเนื่องจากข้อจำกัดดังกล่าว ก็ให้เราหาวิธีสื่อสารอ้อมๆก็ได้ครับ
เช่น ถ้าจะบอกว่า “เขาโกหก” แต่นึกคำว่าโกหกไม่ออก ก็ลองเปลี่ยนมาเป็น “เขาไม่พูดความจริง” แต่ถ้ายังไงมันก็ไม่ได้ เราก็ต้องยอมคิดเป็นภาษาไทยก่อนครับ จากนั้นค่อยแปลจากภาษาไทยที่เราคิดให้เป็นภาษาอังกฤษ
สำหรับวิธีในการแปลผมอยากให้ใช้การเปิดดิกไทย-อังกฤษเป็นวิธีสุดท้าย วิธีที่แนะนำคือใช้ดิกอังกฤษ-อังกฤษ
หรือว่าเสิชกูเกิลเอาครับ ตัวอย่างเช่น เรานึกคำว่า”โกหก”ในภาษาอังกฤษไม่ออก เราก็ลองเปิดดิกอังกฤษหาคำที่มีความหมายตรงกันข้ามกับ
truth หรือไม่ก็ลองเสิชกูเกิลด้วยคีย์เวิร์ดเช่น
“word for not telling
the truth” เราก็จะได้คำศัพท์ที่ต้องการโดยไม่ต้องเปิดดิกไทย-อังกฤษครับ โดยภาษาอังกฤษที่เราแปลออกมาได้นั้น เราต้องมั่นใจนะครับว่าเป็นอะไรที่เค้าพูดกันในภาษาอังกฤษ
แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าเค้าพูดกันเหมือนที่เราแปลออกมา? ก็ดิกอังกฤษ-อังกฤษกับกูเกิลอีกเช่นเดียวกันครับ
หลังจากได้ประโยคภาษาอังกฤษที่มั่นใจว่าถูกต้องแล้ว ก็ให้กลับมาที่เดิมครับ คือพยายามคิดเป็นภาษาอังกฤษเหมือนเดิม
ถ้าไม่ได้ก็ให้คิดเป็นไทยแล้วแปลเป็นภาษาอังกฤษใหม่
วนอย่างนี้ไปเรื่อยๆครับตลอดการฝึก
ทั้ง
นี้การฝึกนี้ผมแนะนำให้ฝึกกับสิ่งที่เราเจอจริงๆในชีวิตประจำวัน
เช่น ตอนนี้เรากำลังชอบผู้หญิงคนนี้อยู่
ก็ให้เราคิดเป็นภาษาอังกฤษเลยว่าจะจีบผู้หญิงคนนี้ยังไงดี
หรือว่าตอนนี้เราไม่พอใจที่โดนเจ้านายหรืออาจารย์ต่อว่า
ก็ให้เราคิดเลยว่าเพราะเราไม่พอใจตรงไหน
และคิดบ่นกับเจ้านายหรืออาจารย์คนนั้นได้เลยครับ
ที่ต้องเป็นเรื่องในชีวิตประจำวันแต่ไม่ใช่เรื่องในบทเรียน ก็เพราะว่าเราจะได้ฝึกใช้ศัพท์และรูปประโยคที่ต้องเจอบ่อยๆในแต่ละวันครับ
และอีกเรื่องหนึ่ง เราไม่จำเป็นต้องฝึกคิดเป็นภาษาอังกฤษตลอดเวลานะครับ
การฝึกอาจจะกินเวลาแค่ครึ่งชม.ต่อวัน ถึงหลายๆชม.ต่อวันก็ได้ และก็ไม่ต้องฝึกทุกวันก็ได้
แต่แค่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอก็พอ แล้วจะเห็นผลครับ
ฝึกกับชาวต่างชาติ
เวลาเราเรียนภาษาอังกฤษสนทนาตามสถานที่เรียนพิเศษหรือโรงเรียน
เมื่อเราต้องฝึกสนทนาเราจะต้องฝึกพูดภาษาอังกฤษกับคนไทยด้วยกัน
นั่นเป็นข้อเสียอย่างหนึ่งเพราะว่าเมื่อเราพูดเป็นภาษาอังกฤษไม่ออกเราก็จะพูดออกมาเป็นภาษาไทย
แต่ถ้าหากเปลี่ยนจากคนไทยเพื่อนเราเป็นคนต่างชาติ
จะไม่มีภาษาไทยในบทสนทนาระหว่างเรากับเพื่อนอีกต่อไป เมื่อนั้นเราจะแสดงศักยภาพสูงสุดในการพูดภาษาอังกฤษครับ
เพราะเราต้องทำยังไงก็ได้ให้เพื่อนเราเข้าใจในสิ่งที่เราพยายามจะบอกเค้า
ทั้งนี้เพื่อนต่างชาติไม่จำเป็นต้องเป็นเพื่อนที่มีภาษาแม่เป็นภาษาอังกฤษอย่างเดียวนะครับ
อาจจะเป็นคนเอเชีย เช่น คนจีน คนญี่ปุ่น คนเวียดนาม ฯลฯ ก็ได้
หรือว่าจะเป็นคนยุโรป เช่น คนฮอลแลนด์ คนเยอรมัน คนฝรั่งเศส ฯลฯ ก็ได้ครับ
การมีเพื่อนต่างชาติที่ภาษาแรกไม่ใช่ภาษาอังกฤษอาจจะมีข้อเสียตรงที่เค้าอาจจะไม่รู้ภาษาอังกฤษทั้งหมด
แต่ก็มีข้อดีตรงที่เค้าจะเข้าใจเราครับ เราไม่ต้องกลัวเค้ารำคาญ
และส่วนมากคนพวกนี้โดยเฉพาะคนเอเชียด้วยกันจะฟังเราเข้าใจกว่าครับ
ทั้งในเรื่องของสำเนียงและเรื่องของแกรมม่า ต่อให้เราพูดสำเนียงไม่ดี
หรือแกรมม่าผิดๆ เค้าจะฟังเราเข้าใจกว่าคนที่มีภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่แน่นอนครับ
อันนี้จากประสบการณ์ของผมเอง
แล้วเราจะไปหาเพื่อนต่างชาติจากที่ไหน? มีสามวิธีที่จะแนะนำครับ
วิธีที่หนึ่งคือเราไปต่างประเทศเองเลยครับ
และจะดีมากถ้าหากที่ๆเราไปไม่มีคนไทยอาศัยอยู่ หรืออาจจะมีก็ได้
แต่ไม่ใช่คนไทยที่เราต้องอาศัยอยู่ด้วยกันหรือเจอกันบ่อยๆนะครับ การไปต่างประเทศก็มีหลายแบบ
มีทั้งแบบระยะสั้น หรือว่าแบบระยะยาว แบบระยะสั้นอาจเป็นสัปดาห์หรือไม่กี่เดือน
ส่วนมากจะเป็นพวกไปเข้าค่าย ไปทริป หรือไปอบรม
ส่วนแบบระยะยาวอาจจะหลายเดือนหรือเป็นปีๆ จะเป็นพวกแลกเปลี่ยนและเรียนต่อ
ถ้าเรายังติดอยู่หลายเรื่องที่ทำให้เราไม่พร้อมในการใช้ชีวิตต่างประเทศระยะยาวผมก็แนะนำแบบระยะสั้นครับ
แบบระยะสั้นก็เพียงพอแล้วครับในการได้เพื่อนสนิทต่างชาติมาคนสองคนหรือมากกว่านั้น
เพื่อนต่างชาติที่ผมสนิทหลายคนก็เคยเจอกันแค่ไม่กี่วันที่ต่างประเทศเมื่อสองสามปีก่อน
แต่ก็ยังคุยติดต่อกันอยู่จนถึงปัจจุบัน ส่วนคนที่พร้อมแบบระยะยาวก็จัดไปครับ
คุณจะได้ประสบการณ์ที่มีค่ามากกว่าภาษากลับมาแน่นอน
วิธีที่สองคือเราไม่ต้องไปต่างประเทศครับ
เราอยู่ไทย แต่ให้เราเข้าร่วมโครงการ โปรแกรม
หรือชมรมที่ดำเนินการนำชาวต่างชาติมาทำกิจกรรมที่ประเทศไทยครับ
โครงการเหล่านี้หาได้จากไหน? ส่วนมากมหาลัยมีครับ
ต้องลองไปติดต่อหน่วยงานในมหาลัยที่ดูแลเรื่องเกี่ยวกับต่างประเทศดู อย่างเช่นของจุฬาฯ
หน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ก็คืออินเตอร์จุฬาฯ
ถ้าใครอยู่จุฬาก็เข้าไปดูได้ตามลิ้งค์นี้ครับ http://www.inter.chula.ac.th/
เมื่อเราเข้าร่วมโครงการเหล่านี้หน้าที่ของเราก็คือจะคอยดูแลชาวต่างชาติเหล่านี้เมื่อเค้ามาถึงประเทศไทยครับ
และชาวต่างชาติที่มาส่วนมากก็สนใจในประเทศไทยอยู่แล้วครับ เค้าถึงได้เลือกมาไทย
สนุกดีนะครับ นอกจากจะได้ภาษาแล้ว เรายังได้แลกเปลี่ยน culture กับเค้าด้วย
ได้พาเค้าเที่ยว พาเค้ากิน สอนภาษาไทย และอื่นๆอีกเยอะครับ
ส่วนวิธีที่สามเหมาะสำหรับคนที่ใจร้อนครับ
ให้เราหาเพื่อนต่างชาติออนไลน์ดูครับ ในเว็บนี้มีบอกไว้ว่ามีเว็บไหนบ้างที่สามารถหาเพื่อนต่างชาติที่อยากคุยเป็นภาษาอังกฤษได้
หรือถ้าอยากได้มากกว่าภาษาอังกฤษก็ลองเข้าไปที่เว็บเดทติ้งดูครับ เว็บนี้เป็นเว็บเดทติ้งที่ใหญ่ที่สุด เราสามารถตั้งการค้นหาได้ละเอียดมาก
ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่อยู่ เมืองที่อยู่ อายุ การศึกษา และอื่นๆอีกมาก ไม่แน่นะครับ
พอเข้าไปแล้วอาจจะได้หนุ่มๆสาวๆต่างชาติติดไม้ติดมือมาด้วยก็ได้
ทิ้งท้าย
สุดท้ายนี้ผมขอให้กำลังใจทุกๆคนที่อยากเก่งภาษาอังกฤษนะครับ
ผมเชื่อว่าถ้าเรามุ่งมั่นและตั้งใจฝึกอย่างสม่ำเสมอแล้ว ในที่สุดความเพียรของเรานั้นก็จะบังเกิดผล
ผมไม่อยากใช้คำว่า”สำเร็จ”
เพราะว่าถ้าเราคิดว่าเราสำเร็จแล้วเราก็อาจจะอยู่กับที่ก็ได้ แล้วก็อยากจะฝากทัศนคติครับ
ว่าการมีสำเนียงไม่ดีไม่ชัดเป็นเรื่องที่ไม่เสียหายนะครับ เพราะคนแต่ละประเทศก็มีสำเนียงไม่เหมือนกัน
ขอแค่อ่านออกเสียงให้ถูกและพูดฟังรู้เรื่องก็พอ ส่วนสำเนียงถ้าได้ก็ดีแต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลถ้าหากไม่ได้
สำหรับคนที่อ่านมาจนถึงตรงนี้ ถ้าหากอยากรู้หรืออยากแนะนำให้ผมเขียนเกี่ยวกับอะไรก็บอกกันได้ครับ สวัสดีครับ
“conversation” is copyright (c) Jozef Turóci and made available under an Attribution 2.0 license
สวัสดีครับ ผมรู้สึกชอบและมีกำลังใจฝึกภาษาอังกฤษขึ้นมากเลยครับ หลังจากอ่านบทความชิ้นนี้ ผมอยากรู้ว่าแล้วผู้เขียนบทความ ได้ฝึกหรือเริ่มยังไง ตรงไหนก่อนครับ ขอบคุณครับ ;) ;)
ตอบลบ